เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
Welcome to my blog !! ..Welcom to my second home !!! สวัสดีค่ะ..ขอต้อนรับเข้าสู่Blog.ของ"ลูกปลา"..เหมือนฝัน บัณฑิตสกุล นะคะ!..บางคนอาจจะรู้จักลูกปลากันมาบ้างแล้ว แต่ก็น่าจะมีอีกหลายคนที่ยังไม่(ทันเกิด)รู้จัก!..แต่ไม่เป็นไร..เพราะที่นี่จะเปรียบเสมือน"บ้านหลังที่สอง"ของลูกปลา ที่พร้อมจะเปิดประตูต้อนรับเพื่อนๆทุกคนได้เข้ามาเยี่ยมเยียนและทำความรู้จักกันมากยิ่งขึ้น อย่าลืมแวะเข้ามาทักทายกันบ้างนะคะ..เราอาจจะได้เป็น"กัลยาณมิตร"ที่ดีของซึ่งกันและกันต่อไปก็ได้ค่ะ!! .."เหมือนฝ้น บัณฑิตสกุล"..

วันจันทร์, ตุลาคม 17, 2554

วิธีป้องกันไฟดูดเด็กช่วงน้ำท่วม

ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน แต่ถ้าเราใช้ไฟฟ้าอย่างไม่ระมัดระวังอาจทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์น้ำท่วมแบบนี้หลายพื้นที่อยู่ในสภาพน้ำท่วมขัง เพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกไฟดูดมากยิ่งขึ้น
พญ. พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
"จากการวิจัยพบว่าช่วงอายุที่เสี่ยงต่อการโดนไฟดูดคือกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบเพราะเด็กในวัยดังกล่าว มักจะซุกซน อยากรู้อยากเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และยังไม่รู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น เช่น ใช้นิ้วมือ หรือวัตถุใกล้มือแหย่เข้าไปในปลั๊กไฟ การกัดเคี้ยวสายไฟ และการดึงปลั๊กไฟที่กำลังเสียบอยู่ และอีกช่วงอายุคือกลุ่มเด็กโต อายุ 10-14 ปี สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เด็กวัยนี้ถูกไฟดูดก็คือ การพยายามสอยว่าวหรือลูกโป่งที่ไปติดอยู่บนสายไฟแรงสูง และความประมาทเลินเล่อในการใช้ไฟฟ้า"



 ดังนั้นการป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุจึงสำคัญมากที่สุด และที่สำคัญรองลงมาคือการช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุไฟดูดขึ้น      
       สำหรับวิธีป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าในเด็ก มีดังนี้
  
       1. คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้ปลอดภัย โดยติดตั้งปลั๊กไฟให้สูงจากระดับพื้นประมาณ 1.5 เมตร หากติดตั้งปลั๊กไฟในระดับต่ำที่เด็กเอื้อมมือถึง ควรใช้ที่ครอบปลั๊กไฟ ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้า หรือแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ
  
       2. ไม่วางสายไฟหรือรางปลั๊กไฟกีดขวางทางเดินหรือผนังในจุดที่เด็กสามารถหยิบจับได้ เพราะเด็กอาจนำสายไฟหรือรางปลั๊กไฟมาเล่นจนถูกไฟฟ้าดูดได้
  
       3. ติดตั้งสายดินหรือเครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติเพื่อป้องกันการถูกไฟดูด นอกจากนี้ยังควรต้องศึกษาคู่มือการใช้ให้ดี จะช่วยให้ปลอดภัยทั้งจากไฟดูดและอัคคีภัย
  
       4. จัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม หลังจากใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเสร็จแล้ว ให้ถอดปลั๊กเครื่องไฟฟ้าและจัดเก็บให้พ้นมือเด็ก สำรวจอยู่เสมอว่ามีสายไฟจากเครื่องใช้ไฟฟ้าห้อยลงมาจากโต๊ะ พร้อมที่จะให้เด็กเล็กดึงสายไฟเล่นจนเกิดไฟช็อต หรือดึงสายไฟจนเครื่องใช้ไฟฟ้าตกลงมาใส่ตัว
  
       5. ตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกบ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณเปียกชื้น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีน้ำเกี่ยวข้องกับระบบการทำงาน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว เป็นต้น นอกจากนี้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำ ควรเช็ดให้แห้งก่อนใช้งาน
  
       6. ควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังบริเวณที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้า
  
       7. สอนให้เด็กเรียนรู้ถึงอันตรายของไฟฟ้าและการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี เช่น
       · อย่าแตะ สวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ โดยเฉพาะในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก
       · หากพบเห็นเสาไฟฟ้าล้ม สายไฟฟ้าแรงสูงขาดหรือหย่อนลงใกล้พื้น ไม่ควรเข้าใกล้เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และควรรีบแจ้งให้ผู้ใหญ่ทราบเพื่อแจ้งแก่การไฟฟ้าทราบและแก้ไขต่อไป
       · อย่าเสียดายว่าวหรือลูกโป่งที่ติดตามสายไฟ เพราะสายไฟฟ้าแรงสูงนั้นแค่เพียงเข้าใกล้จนเกินไป ก็อาจถูกไฟช็อตอย่างรุนแรงได้
  
       “ในสถานการณ์น้ำท่วม มีข้อแนะนำเพิ่มเติมคือควรยกคัทเอาท์ลงทันที เมื่อน้ำท่วมเข้าบ้าน เนื่องจากการยกคัทเอาท์ลง ไฟจะตัดทันที ถ้าบ้านไหนมีการแยกคัทเอาท์ไว้เป็นชั้นก็จะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้น และอย่าแตะสวิทช์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กำลังเสียบปลั๊กอยู่ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือกำลังยืนอยู่บนพื้นเปียก”



     สำหรับวิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลเด็กถูกไฟฟ้าดูด
  
       กระแสไฟเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไหลผ่านจากทางเข้าลงสู่พื้นดิน หากรุนแรงจะเกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก ชาทั่วร่างกาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ หมดสติ และหยุดหายใจ นอกจากนี้ กระแสไฟและความร้อนจากไฟฟ้าจะทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ทั้งผิวหนัง กล้ามเนื้อ อวัยวะภายใน และเสียชีวิตเนื่องจากหัวใจหยุดเต้นอย่างเฉียบพลัน
  
       การช่วยเหลือ และปฐมพยาบาลเด็กถูกไฟฟ้าดูด ให้ถอดปลั๊ก และยกคัทเอาท์ลงเพื่อตัดแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้า จากนั้นใช้วัตถุที่ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า หรือฉนวนกันไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง ไม้แห้ง เชือก สายยางพลาสติก หรือหนังสือพิมพ์ที่ม้วนเป็นแท่ง เขี่ยสายไฟให้หลุดจากตัวเด็ก หรือคล้องตัวเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดออกมา
  
       สำหรับผู้ใหญ่ที่เข้าไปช่วยเหลือร่างกายต้องไม่เปียกชื้น และห้ามสัมผัสถูกตัวเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดโดยตรง เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด หากจะให้ดีผู้ที่ช่วยควรจะยืนอยู่บนฉนวนเช่นกัน เช่น หนังสือพิมพ์ ผ้าห่ม กล่องไม้หรือสวมรองเท้ายาง
      
       “หากเด็กที่ถูกไฟฟ้าดูดไม่รู้สึกตัว และหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจ โดยนวดอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที พร้อมทั้งผายปอด โดยถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 1 คน ให้ทำการนวดหัวใจ 30 ครั้งและผายปอด 2 ครั้ง แต่ถ้ามีผู้ช่วยเหลือ 2 คน ให้ทำการนวดหัวใจ 15 ครั้งและผายปอด 2 ครั้ง จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือตามหน่วยกู้ ถ้าไฟดูดไม่มาก เด็กยังมีสติ พูดโต้ตอบได้ ก็ควรตรวจตามร่างกายว่ามีบาดแผลใดๆหรือไม่ และนำส่งโรงพยาบาลต่อไป”



พญ. พิมพ์ภัค สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า หากคุณพ่อคุณแม่ดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงอุบัติภัยจากไฟฟ้าที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กได้
       กันไว้ดีกว่าแก้ค่ะ



ขอขอบคุณ บทความ ที่มา และแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000131715